ระบบไฟฟ้าแรงสูง คือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 1,000 โวลท์ ระบบไฟฟ้าแรงสูงจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ในระยะทางที่ไกล และสูญเสียทางไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าแรงดังต่ำ ระบบไฟฟ้าแรงสูงจึงทำให้การส่งกระแสไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากกว่า กดังนั้นหากต้องการส่งกระไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจึงต้องส่งด้วยระบบไฟฟ้าแรงสูง
แต่ระบบไฟฟ้าแรงสูงก็มีอันตรายสูงตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูง มีแรงดันไฟฟ้าสูงมากเมื่อเทียบกับไฟฟ้าแรงต่ำที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน คือ 220 โวลท์ ไฟฟ้าแรงสูงนั้นสามารถกระโดดข้ามอากาศหรือฉนวนกันไฟฟ้าเข้าหาวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรือแตะสายไฟ หากวัตถุนั้นอยู่ภายในรัศมีระยะอันตรายที่ไฟฟ้าแรงสูงสามารถกระโดดข้ามได้
ซึ่งระยะอันตรายนี้จะขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้าของไฟฟ้าแรงสูง โดยแรงดันยิ่งสูงระยะที่ไฟฟ้าจะสามารถกระโดดข้ามได้ก็จะยิ่งไกลมากขึ้น ไฟฟ้าแรงสูงจึงมีอันตรายมาก มีสถิติผู้ได้รับอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูงในเขตบริการของการไฟฟ้านครหลวงปีละเกือบ 100 ราย
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยเราจึงจำเป็นต้องสังเกตและรู้จักลักษณะของสายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงสูงมีระยะอันตรายที่จะกระโดดข้ามได้ จึงจำเป็นต้องมีการยึดจับสายไฟฟ้าด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าในจำนวนที่พอเหมาะกับไฟฟ้าแรงสูงนั้น ฉนวนไฟฟ้าที่นิยมกันจะทำด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นชั้นๆมีรูปร่างเหมือนชามคว่ำที่เรียกว่าลูกถ้วย จึงสามารถสังเกตได้ว่าเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงจากการยึดสายไฟฟ้าด้วยลูกถ้วยเป็นชั้น ซึ่งจำนวนชั้นของลูกถ้วยจะบ่งบอกถึงระดับแรงดันไฟฟ้าของไฟฟ้าแรงสูงนั้น และวิธีสังเกตอีกหนึ่งวิธีคือ ระดับความสูงของสายไฟ สายไฟ้าแรงสูงมักจะอยู่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 9 เมตรขึ้นไป สายไฟฟ้าที่อยู่สูงกว่ามักมีแรงดันไฟฟ้ามากกว่าสายไฟที่อยู่ต่ำกว่า
สายไฟฟ้าแรงสูงส่วนใหญ่ที่ใช้ส่งกระแสไฟฟ้าไปตามถนนหรือทุ่งนานั้น ส่วนใหญ่จะไม่มีฉนวนหุ้ม หรือหากมีฉนวนหุ้ม ก็จะหุ้มบางๆ ไว้เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัยที่จะสัมผัสหรือแตะต้อง การหุ้มฉนวนที่ปลอดภัยนั้นจะต้องมีฉนวนที่หนา มีการพันทับด้วยสายชีลด์ (Shield) และมีเปลือกนอกอีกชั้นหนึ่ง ทำให้มีสายมีน้ำหนักมากจึงไม่สามารถพาดไปบนเสาไฟฟ้าทั่วไปได้
ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง